วันเสาร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2560

Operation Barras (10 กันยายน 2000) : ภารกิจชิงตัวประกันที่สุดแสนจะปวดหัวในเซียร์ร่า ลีโอน

แผนที่สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน

 1. ความขัดแย้งที่ไม่รู้จบในแผ่นดินที่ชื่อ เซียร์ร่า ลีโอน

 หากใครที่เคยอ่านเรื่องราวเกียวกับทวีปแอฟริกา นั้นจะทราบดีว่าแต่ละประเทศในแอฟริกาล้วนเคยผ่านช่วงเวลาที่โหดร้ายของสงครามกลางเมืองภายในประเทศ ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก อาทิ โซมาเลีย ไนจีเรีย รวันดา และอีกหลายประเทศ  ซึ่งไม่สามารถที่จะหยุดยั้งช่วงเวลาความบ้าคลั่งได้
แม้จะมีความพยายายามจากนานาชาติโดยการใช้กำลังทหารเข้ามารักษาสันติภาพ และปฏิบัติภารกิจทางด้านมนุษยธรรมก็ตาม 



นักรบกลุ่มเวสต์ไซด์บอย




   อีกประเทศหนึ่งที่ตั้งอยู่ในแอฟริกา อย่าง เซียร์ร่า ลีโอน  ก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นๆในแอฟริกาที่ต้องผจญกับช่วงเวลาวิบากกรรมจากสงครามกลางเมือง  สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน เป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในแอฟริกาตะวันตก  มีเมืองหลวง ชื่อ ฟรีทาวน์  หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ ในปี 1961 เซียร์ร่า ลีโอน
ก็เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 1999 สหประชาชาติได้จัดตั้ง กองกำลังสังเกตุการณ์แห่งสหประชาชาติในเซียร์ร่า ลีโอน(UNAMSIL) โดยมีภารกิจเช่น สังเกตุการณ์ระหว่างหยุดยิงตลอดจนภารกิจทางด้านมนุษยธรรม (ประเทศไทยก็เคยส่งทหารเข้าไปร่วมรักษาสันติภาพในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน) ในที่สุดประเทศก็เข้าสู่ความสงบ   แต่ก็ยังไม่อาจเรียกว่าสงบสุขได้เต็มปากเพราะแม้สงครามกลางเมืองจะยุติ ก็ยังมีกองกำลังติดอาวุธต่างๆ ที่จะเข้ามาก่อความไม่สงบ สังหารผู้คน  ตลอดจนปล้นทรัพย์ของคนในท้องที่ หนึ่งในกลุ่มที่มีชื่อเสียงก็ได้แก่ กลุ่ม "เวสต์ไซด์บอย" ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากลูกหลานของกองกำลังติดอาวุธในสมัยสงครามกลางเมือง  มีผู้นำกลุ่มชื่อ โฟเดย์ คัลเลย์  พวกเขามีฐานที่มั่นอยู่ในหมู่บ้านกเบรีบานา  ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองฟรีทาวน์และมีสภาพเป็นป่าหนาทึบ   พวกเขาประทังชีวิตด้วยการออกปล้นชาวเมือง ต่อมา คัลเลย์ตัดสินใจที่จะขอวางอาวุธต่อสหประชาชาติเพราะเห็นว่า การปล้นต่อไปก็คงไม่ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น   


 2. ใครกันแน่ที่เป็นฝ่ายยอมจำนน  เมื่อทหารอังกฤษโดนปลดอาวุธเสียเอง . . . . . . . . . .




 






 หลังจากคัลเลย์ตัดสินใจที่จะมอบตัว  ทาง UNAMSIL จึงส่งทหารอังกฤษจำนวน 11 นาย จากชุดลาดตระเวน กรมทหารราบไอริช  เข้าไปปลดอาวุธกลุ่มเวสต์ไซด์บอย  โดยมีพันตรี อลัน มาร์แชล เป็นหัวหน้าชุดลาดตระเวน ทั้งนี้ ยังมี ผู้พัน มูซา บังกรา นายทหารจากกองทัพเซียร์ร่า ลีโอน จากนั้นพวกเขาเคลื่อนพลโดยใช้รถแลนด์โรเวอร์  โดยที่ไม่ได้รู้ตัวว่ากำลังจะเข้าไปในรังของเหล่าไฮยีน่าที่กำลังรอเนื้อสดๆก็ไม่ปาน  เพราะทางฝั่งเวสต์ไซด์บอย  ซึ่งคัลเลย์กำลังเตรียมทำการปลดอาวุธ  พลพรรค WSB ที่กลับมาจากการสอดแนมแจ้งว่า  กองทหารอังกฤษที่จะเข้ามาปลดอาวุธนั้นมีเพียงแค่ 12 นาย (รวมล่าม คือพันตรี มูซา)  ทำให้คัลเลย์เกิดนึกในใจว่า ถ้าจับทหารอังกฤษน่าจะทำเงินได้เยอะพอที่จะเลิกปล้นไปได้เลย  จึงเกิดเปลี่ยนใจสั่งให้ลูกน้องเข้าไปซุ่มระหว่างเส้นทาง ที่ชุดลาดตระเวนเข้ามา  และเมื่อมาพวกเขามาถึงให้ จับเป็น ให้หมด 


   ทางด้านชุดลาดตระเวนของอังกฤษซึ่งยังไม่รู้ตัวว่าจะเจอสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนั้น  พวกเขากำลังปวดหัวกับการนำรถเข้าสู่หมู่บ้าน ทั้งนี้เนื่องจากเส้นทางไปยังหมู่บ้านกเบรีบานาเป็นป่าหนาทึบ   ทำให้ถนนดูแคบลง   และทำให้ทัศนวิสัยดูแย่ลงทันที  


    ทันทีที่ชุดลาดตะเวนของผู้พันมาร์แชลมาถึง  พวกเขาถึงกับต้องตกใจเมื่อรอบพวกเขาคือเด็กหนุ่มกองกำลังติดอาวุธ  กลับโผล่พรวดเข้ามาล้อมขบวนรถ พร้อมทั้งตะโกนสั่งให้วางอาวุธด้วยสำเนียงกระท่อนกระแท่น  แม้ตอนแรกผู้พันมาร์แชลจะใจดีสู้เสือ พยายามพลิกสถานการณ์ โดยการส่งสัญญาณให้ทหารยิงทันที แต่โชคร้ายถูกกองกำลังติดอาวุธรวบตัวและขู่ว่า "ถ้าพวกแกยิงเมื่อไหร่  ข้าจะส่งหัวหน้าพวกแกไปยมโลกแน่!" เช่นนี้แล้วทหารอังกฤษจึงยอมจำนนแต่โดยดี ทุกคนถูกปลดอาวุธและอุปกรณ์ติดตัวไปหมด  พวกเขาถูกส่งตัวไปคุมขุังไว้ที่บ้านของกลุ่ม  ยกเว้นผู้พันมูซาที่ดูจะโดนหนักกว่าเพื่อนทั้งถูกทุบตี กระทืบ และถูกด่าทอว่า "สุนัขรับใช้จักรวรรดิ"   เขาถูกขังที่บ่อของโสโครก 


     กลายเป็นว่าพวกเขาถูกปลดอาวุธเสียเองแล้วหรือนี่ . . . . . . . .  .


3. เปิดโต๊ะเจรจา ที่ยิ่งขอยิ่งยุ่งเหยิง (แถมชักศึกเข้าบ้านด้วยครับ ท่านผู้ชม)
 

      หลังจากการหายตัวไปของชุดลาดตระเวน  ทางกองทัพอังกฤษจึงเริ่มวางแผนหาทางช่วยเหลือ ซึ่งบังเอิญ คัลเลย์ได้ส่งตัวแทนมาบอกทหารอังกฤษว่าขอเจรจาแลกเปลี่ยนเชลย  โดยมีการนัดกันในวันที่ 25 สิงหาคม ทั้งสองฝ่ายได้เริ่มต้นเจรจาทันที แต่ทว่าปัญหาคือ คัลเลย์เมาเพราะเสพกัญชาทำให้เขาไม่สามารถตั้งสมาธิในการเจรจา  ยิ่งเจรจาก็ชักจะยิ่งปวดหัว กล่่าวคือ ตอนแรก ขอเงินกับอาวุธ ต่อมาจะเอาอาหาร   จนถึงขั้นขอฐานทัพของกองทัพเซียร์ร่า ลีโอน    สร้างความปวดหัวให้กับนักเจรจาฝั่งอังกฤษก็ไม่น้อย   จนในที่สุดเพราะทนไม่ไหวกับอาการเมาของคัลเลย์  หรือ คิดแล้วว่าเจรจาแบบนี้ไม่น่ายุติ เขาจึงตัดสินใจ มอบโทรศัพท์ดาวเทียม ให้กับคัลเลย์  ทำเอาคัลเลย์ถึงกับดีใจเพราะได้ของดี  จึงให้ลูกน้องปล่อยตัวประกัน 5 คนแรกอย่างใจป้ำ  ซึ่งคัลเลย์ไม่รู้ตัวว่าเขากำลังปล่อยไก่อย่างรุนแรง  จนเป็นการชักศึกเข้าบ้านโดยไม่รู้ตัว 


       เพราะอะไรนะหรือ   ก็เพราะว่าการที่อังกฤษยอมมอบโทรศัพท์ให้ก็เพราะ เหตุผล 2 ประการดังนี้


  1.  เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อใจให้คัลเลย์  และเผื่อการเจรจาครั้งต่อไปก็สามารถติดต่อได้เลยโดยไม่ต้องมาเจรจากันแบบต่อหน้า  เผื่อคัลเลย์เกิดจะปล่อยตัวประกันเพิ่มเติม

     
  2.  ซึ่งเป็นเหตุผลแอบแฝงคือ  เพื่อสามารถระบุตำแหน่งของที่ตั้งของที่คุมขังทหารอังกฤษเพื่อประเมินสถานการณ์ในการวางแผนช่วยเหลือตัวประกัน   ถือเป็นข้อเป็นข้อผิดพลาดที่คัลเลย์ทำพลาดอย่างมหันต์ในการเปิดเผยตำแหน่งตนเองและยิ่งปล่อยตัวประกันซึ่งเป็นทหารนั้นยิ่งเลวร้ายไปอีกเพราะตัวประกันที่ถูกปล่อยตัวมาได้แอบทำการวาดแผนฝัง ของอาคารคุมขัง ระหว่างที่ถูกควบคุมใส่เศษกระดาษพร้อมกับแอบส่งให้กับนักเจรจา ทำให้ ฝ่ายอังกฤษรู้สึกเหมือนบอลเข้าขา รอยิงเข้าโกล์ได้เลย    พูดง่ายๆ "กินหมู" ดีๆนี่เอง



      ฝ่ายอังกฤษเมื่อได้ข้อมูลจากพิกัดบนโทรศัพท์ที่ส่งให้คัลเลย์  ประกอบกับคำบอกเล่าจากตัวประกันจึงเริ่มวางแผนช่วยตัวประกันทันที ดังนั้นฝ่ายอังกฤษจึงให้ชุดเจรจาทำการเจรจาต่อไปและซื้อใจคัลเลย์โดยการหาเสบียงไปมอบให้ (เปย์ให้ไม่อั้น)  จะว่าไปการเจรจารอบหลังคือ "ซื้อเวลา" เพื่อวางแผนนั่นเองโดยที่คัลเลย์ไม่รู้ว่า กำลังจะถูกมอบความตายเพราะความไม่เฉลียวใจของตัวเองเสียแล้ว  

ขณะเดียวกันทางอังกฤษก็ได้ส่งหน่วย SBS (Special Boat Service) หน่วยปฏิบัติการพิเศษทางเรือเข้าแทรกซึมเพื่อสังเกตุการณ์ภายในค่ายคุมเชลยและจับตาดูพฤติกรรมของกลุ่มเวสต์ไซด์บอย  ซึ่งทีมสังเกตุการณ์SBS พบว่า  กลุ่มเวสต์ไซด์บอย นั้นเป็นเพียงแค่กองโจรที่ไร้ระบบระเบียบ   วันๆก็เสพกัญชา  แล้วจึงออกปล้นในเมือง พอตอนเย็นกลับมาก็ปาร์ตี้จนเมาหัวราน้ำ   เมื่อทางฝ่ายอังกฤษได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากทีมสังเกตุการณ์แล้วจึงให้ชุดเจรจานำสุราไปแจกให้คัลเลย์เยอะๆ  


        ในที่สุดแผนการช่วยเหลือตัวประกัน ก็เริ่มออกมาเป็นรูปเป็นร่าง อย่างรวดเร็ว  ที่เหลือก็รอเพียงเวลาตัดริบบิ้นเปิดงาน  หรือเริ่มภารกิจนั่นเอง



4.  แผนปฏิบัติการ
    จากข้อมูลลักษณะของค่ายของกลุ่ม
เวสต์ไซด์บอยที่ถูกส่งมาโดยทหารอังกฤษที่ยังถูกจับเป็นตัวประกัน อย่างลับๆในวันเจรจาครั้งแรกกับคัลเลย์ ทำให้ฝ่ายอังกฤษมีข้อมูลพอที่จะเริ่มทำการค้นหาและช่วยเหลือตัวประกัน ทั้ง สภาพของตัวอาคาร ผังที่ตั้งของอาคารที่คุมขัง  อีกทั้ง ข้อมูลความเคลื่อนไหวของเหล่าเวสต์ไซด์บอย จากทีมสังเกตุการณ์ หน่วย SBS  ยิ่งทำให้ฝั่งอังกฤษเหมือนมี "แต้มต่อ" ที่ภารกิจนี้จะสำเร็จอย่างแน่นอน 


 4.1 ลำดับขั้นตอนของภารกิจ



    
รายละเอียดของภารกิจ




  1.   ทหารพลร่มจำนวน 110 นาย จากกองพันที่1 กรมทหารพลร่ม จะเข้าไปวางกำลังแถวหมู่บ้านแมกเบนี คอยวางกำลังรอบๆ พื้นที่ปฏิบัติการ เพื่อคุ้มกัน ชุดปฏิบัติการจากข้าศึกที่จะวิ่งข้ามสะพานเข้ามาสมทบกับWSB ในพื้นที่ 


     
  2.    ทหารหน่วยรบพิเศษ SAS จากหมู่ดี (D-Squadron) แห่งกรมปฏิบัติการพิเศษทางอากาศที่ 22  จะเข้าชิงตัวประกันโดยมีเฮลิคอปเตอร์ แบบชินุค และ ah-7 ลิงซ์ คอยยิงคุ้มกันเพื่อเปิดทางให้ทีมจู่โจมเข้าไป
  3.   ชุดสังเกตุการณ์จากหน่วย SBS (Special Boat Service) ซึ่งวางตัวสังเกตุการณ์ตั้งแต่การเจรจาจะคอยคุ้มกันแถวบ้านที่ขังเชลย
    เพื่อคุ้มกันไม่ให้เชลยถูกสังหาร  



     ในการปฏิบัติการครั้งนี้ได้มีการเสริมทัพโดยทหารพลร่ม 1 กองพันเข้ามาเพราะว่าทางกองบัญชาการในอังกฤษได้รับข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริเวณหมูบ้านกเบรีบานา นั้นยังมีหมู่บ้านใกล้ๆชื่อหมู่บ้านแมกเบนี ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นอริกับกับกลุ่ม WSB ก็ตามแต่ฝั่งอังกฤษมีความกังวลว่า เสียงปืนอาจจะเกิดทำให้พวกเขาเข้าใจผิดจนกลายเป็นการชักศึกเข้าบ้านก็เป็นได้ อีกทั้งแม่น้ำหระหว่างหมู่บ้านมีขนาดไม่กว้างมากนัก  ทำให้คนจากหมู่บ้านแมกเบนีอาจข้ามมาซุ่มโจมตีหน่วยSASและอากาศยาน ได้

      ซึ่งอเมริกาก็เคยเจอสถานการณ์นี้  ในการยุทธ์โมกาดิชู เมื่อ ปี 1993 ที่ หน่วยเดลต้า ฟอร์ซ และเรนเจอร์บุกเข้าจับกุมนายทหารของนายพลไอดิดที่นอกจากต้องรับมือกับนักรบจากกองกำลังติดอาวุธของไอดิด  แล้วยังถูกกระหนายโดยชาวบ้านที่เกิดสติแตกจากความกลัวที่จับอาวุธ  จนต้องเสียทหาร 18 นาย และเฮลิคอปเตอร์ 2 ลำ


       ดังนั้นอังกฤษจึงตัดสินใจว่าเฟสแรกจะให้เฮลิคอปเตอร์ ชินุค และ ลิงซ์  โปรยฝนเหล็กด้วยมินิกัน  ปืนกลเพื่อกำจัดศัตรูที่อาจซ่อนในบ้าน  จากนั้นจึงส่งพลร่มเข้าไปเบี่ยงเบนความสนใจเพื่อให้ SAS เข้าไปช่วยตัวประกัน ในกเบรีนาได้อย่างสะดวก




    5.
    ได้เวลาตัดริบบิ้น  (เปิดภารกิจ)   



       วันที่ 17 กันยายน 2000 รุ่งเช้า เมื่อเหล่าทหารหนุ่มแห่ง SAS และพลร่ม จัดอาวุธและอุปกรณ์ ตลอดจนสรุปครั้งสุดท้ายจนเสร้จสิ้นพวกเขาจึงเหินฟ้าด้วยเฮลิคอปเตอร์ชินุค  และลิงซ์  เพื่อเข้าไปวางตัวในพื้นที่รับผิดชอบของตน  ซึ่งทุกอย่างก็ดูจะเป็นไปได้ด้วยดีแต่แล้วก็ต้องเจอความยุ่งยากจนได้เมื่อทหารพลร่มที่จะเข้าไปวางตัวในหมู่บ้านแมกเบนีกลับโรยตัวลงมาในบึงชื้นแฉะ  ทำให้เคลื่อนตัวไปยังเป้าหมายลำบากมาก อีกทั้งวิทยุกลับไม่สามารถใช้งานเพื่อจะติดต่อไปทางหน่วย SAS ให้เลื่อนเวลาแต่สายไปเสียแล้ว  ผู้พันแม็ทธิว โลว์ หัวหน้าชุดพลร่มเห็นชาวบ้านแมกเบนี คว้าอาวุธเข้ามาทางพวกตน  ผู้พันโลว์จึงสั่งให้ทีมยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อขู่ชาวบ้านไม่ให้ข้ามสะพาน  จนเกิดการปะทะย่อยๆ ที่เลวร้ายเพราะ พลร่มไม่สามารถขยับตัวได้เลย  และแล้วผู้พันโลว์ก็ถูกยิงจนเสียชีวิต  โดยมี ร้อยเอกแดน แมทธิวส์  รับช่วงต่อแทน  



       ส่วนหน่วยSAS ที่เป็นทีมช่วยเหลือเมื่อถึงหมูบ้านกเบรีนาแล้ว เฮลิคอปเตอร์จึงโปรยฝนเหล็กจากกันชิปรอบหมู่บ้านอย่างหนักหน่วง
เพื่อกำจัดข้าศึกและกลุ่มที่ใช้ จรวดอาร์พีจีที่ซ่อนตัวอยู่  ซึ่งแรงลมจากใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ทำเอาฝุ่นตลบ  และหลังคาของอาคารที่สร้างอย่างๆง่ายๆ กระเด็น ออกไป   แม้จะมีการต่อต้านแต่พวก WSB ไม่ใช่ทหารที่ฝึกมาอย่างดี ก็เลยถูกฝนเหล็กจากกันชืปจนร่วงไปทีละคน    



       คัลเลย์เมื่อรู้ว่าตนถูกอังกฤษหลอกจึงนำพลพรรคที่เหลือไปยังบ้านที่คุมเชลยเพื่อสังหารตัวประกันให้หมดแต่ยังไม่ถึงตัวบ้านพวกเขาก็ถูกต้อนรับโดยสไนเปอร์ของ SBS ที่ซุ่มรออยู่แล้ว พวกเขาค่อยๆบรรจงเก็บกองกำลังติดอาวุธทีละคน จนเหลือคัลเลย์ที่เกิดอาการกลัวจนวิ่งกลับไปซ่อนตัวในบ้าน  





       เมื่อพื้นที่ถูกถางโดยกันชิปแล้ว หน่วย SAS จึงโรยตัวเข้าปิดล้อมอาคารที่ละหลังพร้อมกับสังหารข้าศึก  ขณะเดียวกันก็พยายามหาเชลยให้เจอ  จนกระทั่ง SAS นายหนึ่งได้ยินเสียงตะโกนว่า "พวกเราทหารอังกฤษๆ" จากอาคารหลัง SASหนุ่มจึงเข้าไปข้างในพบทหารอังกฤษที่ถูกจับ 6 นาย ทหารSAS จึงพาพวกเขาออกมายังจุดถอนตัว
ซึ่งมีขนาดพแๆกับสนามบอล  


         ส่วนผู้พันมูซาทหารล่ามที่ได้รับบาดเจ็บปางตายก็คงคิดว่าคงไม่มีใครหาเค้าเจอวินาทีนั้นเอง  SAS อีกทีมพบผู้พันมูซาในบ่อจึงอุ้มเขาออกมาเพื่อทำการถอนตัว  ส่วนอีกทีมก็เจอคัลเลย์ที่อยู่ในสภาพไร้พิษสง แล้วเพราะลูกน้องไม่ถูกยิงก็ทิ้งอาวุธหนีไป   สุดท้ายคัลเลย์ก็ถูกจับกุม เป็นอันสิ้นสุดภารกิจ  



          ภารกิจในครั้งนี้จึงเป็นภารกิจหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม แม้จะสูญเสียผู้พันโลว์ไปแต่การสูญเสียเขาก็ไม่เป็นการสูญเปล่าเพราะตัวประกันทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวอย่างปลอดภัย  อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำชื่อเสียงความเป็นหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่มีมายาวนานนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ของ SAS ที่เหล่าผองเพื่อนหน่วยรบพิเศษยอมรับโดยไม่มีข้อโต้แย้ง   


           ภารกิจในครั้งนี้ยังเป็นการให้กำเนิดหน่วยรบพิเศษน้องใหม่ในชื่อของหน่วยสนับสนุนการรบพิเศษ หรือ Special Forces Support Group โดยมีภารกิจในการสนับสนุนการปฏิบัติการพิเศษนั่นเอง
สัญลักษณ์ของ  Special Forces Support Group(SFSG)

SFSG ในภารกิจที่อิรัก